วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การควบคุมการสร้างและเผยแพร่ภาพยนตร์ในราชอาณาจักร : เกณฑ์การพิจารณา



คณาธิป ทองรวีวงศ์  www.thaiprivacylaw.com

ตาม พรบ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551    ได้วางหลัก การควบคุมเนื้อหาภาพยนตร์ในขั้นตอนการสร้าง (Production)  โดย มีหลักกฎหมายเกี่ยวข้องคือ จะต้องยื่นขออนุญาตก่อน   
 --สำหรับ ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในประเทศไทย ก็จะต้องยื่นคำขออนุญาต ต่อ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งถ้าอนุญาต ก็จะออกหมายเลข ภย... ถ้าไม่อนุญาต ก็สามารถอุทธรณ์ต่อ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ
 --- สำหรับวีดิทัศน์ เกม คาราโอเกะ ที่สร้างขึ้นในประเทศไทย ก็จะต้องยื่นคำขออนุญาต ต่อ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งถ้าอนุญาต ก็จะออกหมายเลข วท.. ถ้าไม่อนุญาต ก็สามารถอุทธรณ์ต่อ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ
พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ. 2551   นั้น นอกจากควบคุมการ สร้างภาพยนตร์ แล้ว ยังกำหนดหลักการควบคุมการ เผยแพร่ ภาพยนตร์ ด้วย
โดยกำหนดหลักการควบคุมการเผยแพร่ภาพยนตร์โดยวิธีการ ฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน  จำหน่าย 
สำหรับการเผยแพร่โดยวิธีการ ฉายภาพยนตร์ นั้นกฎหมายนิยามคำว่า ฉาย ว่าหมายถึง การนำภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์มากระทำให้ปรากฏภาพ หรือภาพและเสียงด้วยเครื่องฉาย หรือเครื่องมืออื่นใด และให้หมายความรวมถึงการถ่ายทอดด้วย[1]
  กฎหมายกำหนดหลักการไว้ว่า ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์[2]  หากมีการฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท[3]
การตรวจพิจารณาภาพยนตร์ เป็นกระบวนการที่สำคัญของกฎหมายฉบับนี้ในการเผยแพร่ภาพยนตร์ กล่าวคือ ภาพยนตร์จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามกฎหมายฉบับนี้ก่อนจึงเผยแพร่ได้     
หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจพิจารณาก็คือ  สำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์  กระทรวงวัฒนธรรม  


สำหรับเกณฑ์การตรวจพิจารณาภาพยนตร์นั้น พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ประกาศกำหนดรายละเอียด[4]  ซึ่งได้มีการประกาศหลักเกณฑ์ในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญคือ[5]
 ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า สื่อโฆษณาที่ขออนุญาตไม่มีเนื้อหาเป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ให้คณะกรรมการอนุญาตให้นำสื่อโฆษณาดังกล่าวออกเผยแพร่ในราชอาณาจักร
ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า สื่อโฆษณาใดมีเนื้อหาเป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ให้คณะกรรมการแจ้งให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตดำเนินการแก้ไขหรือตัดทอนเนื้อหาดังกล่าวออก
ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขออนุญาตไม่ประสงค์จะแก้ไขหรือตัดทอน ให้คณะกรรมการมีคำสั่งไม่อนุญาตให้นำสื่อโฆษณาดังกล่าวออกเผยแพร่ในราชอาณาจักร[6]



นอกจากนี้  จากบทความก่อนที่ได้พูดคุยถึงกรณี ควบคุมเนื้อหาภาพยนตร์ โดยวิธีการ เรตติ้งตาม พรบ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551  โดยกฎหมายกำหนดประเภทสำหรับการจัดเรตติ้งไว้ 7 ประเภท นั้น
ที่น่าสนใจก็คือ ภาพยนตร์ประเภทที่ 7  ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร 
การจำกัดสิทธิรับสื่อของภาพยนตร์ประเภทนี้   ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุของบุคคล   กล่าวคือ ไม่ว่าอายุช่วงใดก็ถูกจำกัดทั้งสิ้น  กล่าวคือ หากคณะกรรมการฯ เห็นว่า ภาพยนตร์นั้นไม่ผ่านการพิจารณา ผลคือ ไม่สามารถเผยแพร่ในราชอาณาจักรได้  ดังนั้น ไม่ว่าบุคคลอายุเท่าใดก็ไม่อาจรับชมได้   สำหรับเกณฑ์การพิจารณา ก็จะเห็นได้จากหลักกฎหมายข้างต้น

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

    สรุป :   การตรวจพิจารณาภาพยนตร์ ภายใต้ พรบ ภาพยนตร์ฯ 2551

หลัก - ภาพยนตร์ที่จะนำมาเผยแพร่ในประเทศไทย ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการฯ ก่อน ดังนั้น คณะกรรมการฯ จะพิจารณาว่า ภาพยนตร์นั้น สามารถเผยแพร่ได้หรือไม่ ถ้าได้ ก็จะพิจารณาจัด rating อีกด้วยว่า เรื่องนั้นจะอยู่ใน rating ใด ก็คือ เหมาะกับผู้ชมกลุ่มใด

  หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา ๒๖ ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณา และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา ๒๖ ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ตามมาตรา ๒๕ ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์กำหนดด้วยว่าภาพยนตร์ดังกล่าวจัด อยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด ดังต่อไปนี้ (๑) ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู (๒) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป (๓) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป (๔) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป (๕) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป (๖) ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู (๗) ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร  

ถาม แล้วคณะกรรมการจะใช้เกณฑ์ใดในการพิจารณา เนื้อหาอย่างไรจะผ่าน เนื้อหาอย่างไรจะไม่ผ่าน  

ตอบ ตัว พรบ ไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้ หลักเกณฑ์สามารถดูได้จากกฎหมายอนุบัญญัติที่ออกตามความมาตรา 25

 ซึ่งปัจจุบัน คือ ประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การตรวจพิจารณาภาพยนตร์และสื่อโฆษณา พศ 2552  ซึ่ง เป็นประกาศที่ออกตามความมาตรา 25 วรรคสอง ของ พรบ ภาพยนตร์ฯ ดังกล่าว ในส่วนเกี่ยวกับการพิจารณา content หรือเนื้อหาของภาพยนตร์ สื่อโฆษณา นั้น มีหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น 

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

Comment :
1.                    กฎหมายหลัก คือ พรบ ภาพยนตร์ มิได้กำหนดเกณฑ์การตรวจพิจารณาไว้ชัดเจน  แต่ให้มีการออกกฎหมายลำดับรอง  ซึ่งในส่วนนี้ก็คือ ประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การตรวจพิจารณาภาพยนตร์และสื่อโฆษณา  พ.ศ. 2552 
2.                    จากประกาศฯ ดังกล่าว   จะเห็นได้ว่า กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ค่อนข้างกว้าง     จะเห็นว่า สื่อต่อไปนี้ คณะกรรมการจะไม่อนุญาตให้เผยแพร่
- เนื้อหาบ่อนทำลาย ขัดความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (Public order and good moral)
 - กระทบกระเทือนความมั่นคงของรัฐ (National security)
ซึ่งกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดนิยามลงไปอย่างชัดเจน ยังคงเป็นดุลพินิจที่ค่อนข้างกว้าง 
3.                         ประกาศฯ ดังกล่าว แม้ว่าจะกำหนดเกณฑ์ว่า สื่อใดที่ต้องห้าม เช่น ขัดต่อความสงบฯ  แต่เกณฑ์ดังกล่าวก็ยังมีความกว้าง และไม่ชัดเจนนัก ขึ้นอยู่กับการตีความในแต่ละกรณี (Case by case)  เช่น  ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”    กรณีนี้จะเห็นได้ว่า โดยทั่วไปแล้ว สื่อลามก จะจัดอยู่ในสิ่งที่ขัดต่อความสงบฯ    ส่วนประเด็นว่า แค่ไหนเป็นลามก ก็ต้องไปดูการตีความของศาลในคดีอาญาประกอบด้วย  ซึ่งได้เขียนไว้แล้วในอีกบทความหนึ่ง




อ้างอิง:  คณาธิป ทองรวีวงศ์, กฎหมายการสื่อสารมวลชน  , กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2555 


[1] มาตรา 4    พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ. 2551 
[2] มาตรา 25    พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ. 2551 
[3] มาตรา 78    พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ. 2551 
[4] มาตรา 25 วรรคสอง วางหลักว่า การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
[5] ประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การตรวจพิจารณาภาพยนตร์และสื่อโฆษณา  พ.ศ. 2552 
[6] ประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การตรวจพิจารณาภาพยนตร์และสื่อโฆษณา  พ.ศ. 2552  ข้อ 14 

วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

กรณีตัวอย่าง เกมคอมพิวเตอร์กับ การตรวจพิจารณาตาม พรบ ภาพยนตร์ฯ :

 ตามหลักกฎหมาย พรบ ภาพยนตร์ฯ 2551  จะเห็นได้ว่า
    กฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการฯ พิจารณาภาพยนตร์ วีดิทัศน์

สำหรับ เกมคอมพิวเตรอ์  ก็จัดอยู่ในความหมายนิยามของ


"วีดิทัศน์" ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ด้วย

ดังนั้น เกมคอมพิวเตอร์ ก็อยู่ภายใต้  มาตรา 47 ซึงมีหลักว่า

 "วีดิทัศน์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะ กรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ..." 

กรณีเกมคอมพิวเตอร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนี้)  ก็จะต้องขออนุญาตก่อน 

เกณฑ์การพิจารณาก็มีหลักการคล้ายคลึงกับ ภาพยนตร์ก็คือ

ต้องไม่ขัดต่อ  ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน และความมั่นคงของรัฐ 

มาดูตัวอย่าง เกมอันหนึ่งซึ่งไม่ผ่านการพิจารณา  สรุปก็คือนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไม่ได้ 

  เกมสร้างเมือง "Tropico 5"

ข้อมูลจากเพจของ   New Era Thailand

“นิว อีร่า ขอแจ้งให้ทราบว่า ผลการตรวจพิจารณาเกม Tropico 5 จากสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ปรากฎว่าคณะกรรมการฯมีมติไม่อนุญาต เนื่องด้วยเนื้อหาเกมบางส่วนอาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ จึงทำให้ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถวางจำหน่ายเกม Tropico 5 ได้” -- https://www.facebook.com/NewEraTh/posts/793536127336476


จะเห็นได้ว่า เกมนี้ คณะกรรมการ เห็นว่า

 เนื้อหาเกมบางส่วนอาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ

เกณฑ์นี้เป็นถ้อยคำที่ค่อนข้างกว้างดังกล่าวมาแล้ว


สำหรับเหตุผลของคณะกรรมการที่ว่า ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ขัดอย่างไร ไม่แน่ชัด


 ลองดูเนื้อหาเกม 
เว็บไซต์เกี่ยวกับเกมบางแห่ง รีวิวเกมไว้ว่า “Tropico 5 เป็นเกมแนวสร้างเมือง ซึ่งผู้เล่นต้องรับบทเป็นประธานาธิบดีที่ได้ รับคำสั่งให้ไปทำการบุกเบิกเกาะใหม่ภายใต้พระนามขององค์จักรพรรดิ ทำให้ภาคนี้เราต้องเริ่มเล่นจากยุคบุกเบิก ที่เราต้องคอยส่งเครื่องบรรณาการต่างๆ กลับไปให้องค์จักรพรรดิตามคำสั่งที่ได้รับ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเราจะสามารถประกาศให้เกาะของเราเป็นอิสระภาพจากการปกครองขององค์จักรพรรดิได้ทำให้เราก้าวเข้าสู่ยุคของสงครามโลกและสงครามเย็น ตามลำดับ” -- http://www.gametoshokan.com/review/tropico-5-review


ไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการจะมองว่าเนื้่อหาจะส่งเสริมให้เกิดการกบฎแบ่งแยกดินแดนอันเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาหรือไม่ ก็ไม่ทราบได้

ถ้าเป็นเช่นนี้น่าสงสัยว่า เกมอีกหลายเกมที่ก็มักมีเนื้อหาเป็นแนวต่อสู้แฟนตาซี ยึดอำนาจ ฯลฯ จะขัดต่อความมั่นคงไปด้วยหรือไม่  แต่ทำไมบางเกมที่มีเนื้อหาทำนองดังกล่าวถึงจำหน่ายได้

สุดท้ายก็คงต้องขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการในการตีความถ้อยคำที่กฎหมายกำหนดไว้ค่อนข้างกว้างและไม่ได้มีนิยามที่ชัดเจนลงไป


แนวทางการพิจารณาและตีความ "สื่อลามก" ในกรณีของภาพยนตร์และวีดิทัศน์




การควบคุมสื่อภาพยนตร์  ตาม พรบ ภาพยนตร์  :   กรณี ลามกอนาจาร


by  คณาธิป  ทองรวีวงศ์ www.thaiprivacylaw.com


การตรวจพิจารณาสื่อภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตาม พรบ ภาพยนตร์ จากที่เคยกล่าวมาในบทความก่อนหน้าแล้วนั้น

มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1.               กฎหมายหลัก คือ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551
2.               กฎกระทรวง  กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์พ.ศ. 2552  ลงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552 
3.               ประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การตรวจพิจารณาภาพยนตร์และสื่อโฆษณา  พศ 2552) 
จะได้อธิบายกฎหมายดังกล่าว ในส่วนของ เนื้อหาข้อมูลที่เป็น ลามกอนาจารต่อไปนี้
สำหรับ กฎกระทรวง  กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์พ.ศ. 2552  ลงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552   ซึ่งเรียกง่ายๆว่า กฎกระทรวงในการจัด rating ภาพยนตร์ ตามช่วงอายุผู้ชม   นั้น  ได้มีการวางเกณฑ์ของภาพยนตร์สำหรับแต่ละกลุ่มอายุ  โดยมีลักษณะของสื่อลามกอนาจาร  อยู่ในเกณฑ์การพิจารณาด้วย เช่น

ข้อ 3  ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป ต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
.....เนื้อหาที่แสดงพฤติกรรมทางเพศที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร
ข้อ 4  ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป ต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
....... (2) เนื้อหาที่แสดงพฤติกรรมทางเพศที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร
ข้อ 5  ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป ต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
....เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ

จะสังเกตว่า กลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป   สื่อที่ต้องห้ามจะไม่ใช้คำ ลามกอนาจาร แต่จะใช้คำชัดเจนลงไปว่า เป็นการแสดงการมีเพศสัมพันธ์ และต้องเป็นกรณีที่เห็นอวัยวะเพศด้วย


สำหรับลามกอนาจารนั้น พรบ นี้มิได้นิยามความหมายไว้ ก็ต้องไปพิจารณาประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งก็ไม่ได้นิยามความหมายไว้อีก   แต่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินตามประมวลกฎหมายอาญาโดยเฉพาะการเผยแพร่สิ่งลามก มาตรา 287  ได้วางหลักของ ลามกอนาจารไว้ ดังจะยกมาให้เห็นเป็นตัวอย่างดังจะกล่าวต่อไป


สำหรับหลักการ ตรวจพิจารณาภาพยนตร์   ตาม ประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การตรวจพิจารณาภาพยนตร์และสื่อโฆษณา  พศ 2552 นั้นได้มีการ วางเกณฑ์การพิจารณาเนื้อหาภาพยนตร์ว่า เนื้ออหาอย่างไรจะไม่อนุญาต
สำหรับใน ส่วนที่เกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ที่เกิดขึ้นโดยมากมักจะเป็นกรณีภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ทางเพศ  ซึ่งในการนี้ กฎหมายเกี่่ยวกับภาพยนตร์ ไม่ได้กำหนดแนวทางการตีความไว้  ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ซึ่ง  โดยทั่วไปแล้ว คณะกรรมการก็จะพิจารณาจากกฎหมายอื่นในระบบของกฎหหมายไทยที่มีการตีความคำว่า สื่อลามกอนาจาร  โดยเฉพาะ ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่วัตถุลามก  (ปอ 287)
จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า  สื่อภาพยนตร์ที่มีปัญหาในการตีความคือ ลามกอนาจาร  ทั้งในกรณีที่กฎหมายระบุคำว่า ลามกอนาจาร ไว้โดยตรง และกรณีการตีความสื่อลามก ว่าอยู่ในความหมายของสื่อภาพยนตร์ที่ขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีด้วย  
สำหรับ  คำอธิบายและการตีความ สื่อลามกอนาจาร นั้น กฎหมายฉบับหลักคือ  พรบ ภาพยนตร์ นี้มิได้นิยามความหมายไว้ ก็ต้องไปพิจารณาประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งก็ไม่ได้นิยามความหมายไว้อีก   แต่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินตามประมวลกฎหมายอาญาโดยเฉพาะการเผยแพร่สิ่งลามก มาตรา 287  ได้วางหลักของ ลามกอนาจารไว้ ดังจะยกมาให้เห็นเป็นตัวอย่างดังจะกล่าวต่อไป







คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2136/2531
สำหรับ ข้อที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลรอการลงโทษนั้นเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีภาพสีลามกร่วมเพศ กับหนังสือภาพลามกร่วมเพศไว้ในความครอบครองเพื่อประโยชน์ในทาง การค้านับว่าเป็นภัยต่อสังคมอย่างหนึ่งโดยเฉพาะบรรดาเยาวชน ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุก 1 เดือนเป็นกักขังนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

Comment : คดีนี้สื่อลามก เป็น ภาพสื่อสิ่งพิมพ์  (Print media)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7416/2537
การที่จำเลยมีไว้ซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์อันลามกในการประกอบธุรกิจให้เช่า แลกเปลี่ยนและจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ดังกล่าว อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 ย่อมเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์พ.ศ. 2530 มาตรา 6,34 อยู่ในตัว มิใช่ความผิดที่เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 19 ปีเศษ เป็นชาวต่างจังหวัดเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างในกรุงเทพมหานครและเรียนหนังสือ เป็นนักศึกษานอกโรงเรียนสามัญ ย่อมมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีจึงยังไม่มีเหตุอันควรที่จะลดมาตราส่วนโทษให้ แต่จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนมีเหตุอันควรที่จะรอการลงโทษ เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีจะได้ศึกษาเล่าเรียนต่อไป โดยต้องวางโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งด้วยเพื่อให้หลาบจำ


 Comment : คดีนี้เกี่ยวข้องกับสื่อวีดิทัศน์ที่ลามก   แต่เป็นคดีเกิดก่อน พรบ ภาพยนตร์ฯ 2551    จะสังเกตว่า ศาลพิจารณา ลามก ตามกฎหมายอาญา 287  


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6301/2533
   ภาพ พิมพ์ของกลางเป็นภาพหญิงสาวซึ่งมีบางภาพเปิดเผยเต้านมอย่างโจ่งแจ้ง ส่วนที่อวัยวะเพศแม้จะมีผ้าอาภรณ์ปกปิดไว้ แต่ก็ปกปิดไว้อย่างหมิ่นเหม่ ซึ่งนอกจากจะอยู่ในอิริยาบทที่ไม่เรียบร้อยไม่น่าดูแล้ว ยังอยู่ในอิริยาบทที่น่าเกลียดน่าบัดสีอีกด้วยกล่าวคือ มีบางภาพอยู่ในอิริยาบทนอนก็นอนหงายถ่างขาออกอย่างกว้างทำนองเจตนาเพื่ออวด อวัยวะเพศอย่างเด่นชัด ส่วนภาพที่อยู่ในอิริยาบทนั่งก็นั่งถ่างขาออกแม้จะมีผ้าปกปิดอวัยวะเพศก็ เป็นผ้าบางใส ซึ่งแสดงว่าต้องการอวดอวัยวะเพศเช่นเดียวกับภาพในอิริยาบทนอนดังกล่าว จึงเป็นภาพที่มีเจตนายั่วยุให้บังเกิดความใคร่ทางกามารมณ์โดยตรง ถือเป็นภาพลามกตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287(1). การบังคับค่าปรับเอาแก่นิติบุคคลนั้น จะกักขังแทนค่าปรับไม่ได้

Comment            :   แม้มีเสื้อผ้าหรือสิ่งปกปิดอวัยวะเพศ  แต่หากปิดไว้อย่าง หมิ่นเหม่ศาลก็ถือว่าเป็นลามก  ปัญหาว่า อย่างไร หมิ่นเหม่ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง case by case

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2128/2533
ฟิล์มภาพยนตร์ของกลางที่เจ้าพนักงานยึดได้จากห้องฉายภาพยนตร์ อันเป็นฟิล์มภาพยนตร์ที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ทางเพศตามที่ปรากฏในรายงาน การตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.10 นั้นเป็นหลักฐานยืนยันให้เห็นเป็นการแน่นอนอีกชั้นหนึ่ง จึงเชื่อได้โดยปราศจากสงสัยว่าภาพยนตร์ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันมีและนำออกฉาย นั้น เป็นภาพยนตร์ลามกอนาจาร


Comment:   เนื้อหาแสดงถึงความสัมพันธ์ทางเพศ  เป็นแนวทางที่ศาลพิจารณาว่า ลามก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1552/2546
จำเลยทำให้เผยแพร่โดยการมีไว้เพื่อจำหน่าย เสนอจำหน่ายแผ่นวิดีโอซีดี ซึ่งบันทึกภาพและเสียงอันลามกโดยปรากฏภาพการร่วมเพศระหว่างชายหญิงจำนวน 56 แผ่น   ศาล ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287  และมีคำพิพากษาเกี่ยวกับของกลางว่า ของกลางให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนสิ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดให้ริบนั้น ไม่ชัดเจนว่าของกลางใดที่ให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนแผ่นซีดีภาพยนตร์ลามกเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันควรริบ ไม่ใช่สิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดแต่อย่างใด จึงสมควรแก้ไขให้ถูกต้องด้วย ดังนั้น ศาลฎีกาพิพากษาแก้เฉพาะส่วนซีดีภาพยนตร์ลามก 56 แผ่น อันเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) นั้น ให้ริบ

Comment :  คำพิพากษานี้ ตัดสินว่า ภาพ+เสียง การร่วมเพศ คือการลามก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2540/2551
จำเลยทั้งสองร่วมกันมีแถบบันทึกภาพลามก แผ่นซีดีบันทึกภาพลามก หนังสืออันเป็นสิ่งพิมพ์ลามกที่มีภาพชายหญิงเปลือยกายอวดอวัยวะเพศ แสดงการร่วมประเวณี ตลอดจนบรรยายข้อความเป็นเรื่องราวการร่วมเพศระหว่างชายหญิงในลักษณะอันลามก ไว้ในครอบครองเพื่อประสงค์แห่งการค้า

         Comment :  คำพิพากษานี้  เปลือยกาย แม้ไม่ได้ร่วมเพศ ก็ถือว่าลามก


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

Comment :

            1. จะเห็นได้ว่า แม้ ตาม พรบ ภาพยนตร์ฯ มิได้กำหนดว่าให้พิจารณาตามเกณฑ์ของกฎหมายอาญาก็ตาม  แต่คณะกรรมการฯ ก็สามารถนำแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว เป็นแนวทางการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ได้  แต่ข้อสังเกตก็คือ บางกรณีคณะกรรมการฯ ก็อาจใช้ดุลพินิจแตกต่างจากแนวฎีกาได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณี ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีนั้นอาจเป็นกรณีสื่อลามก ก็ได้ อาจไม่ถึงขั้นเป็น สื่อลามก ตามแนวฎีกาก็ได้  จึงยังเป็นจุดที่กว้างและยังไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจนตามกฎหมาย



         2. มีประเด็นน่าคิดว่า จำเป็นหรือไม่ ที่ พรบ ภาพยนตร์ ต้องวางเกณฑ์ในการควบคุมสื่อภาพยนตร์ สำหรับกรณี สื่อลามกอนาจาร   กฎหมายอาจอยู่บนพื้นฐานแนวคิดว่า เนื้อหาสื่อลามก อาจไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอาจส่งผลกระทบต่อบุคคลบางจำพวกที่กฎหมายเห็นว่าอาจยังไม่มีวุฒิภาวะหรือวัยวุฒิที่เหมาะสม เช่น เด็กและเยาวชน    แต่หากสื่อภาพยนตร์นั้นมีลักษณะลามก  ก็มีกฎหมายอื่นที่สามารถนำมาปรับใช้อยู่แล้ว เช่น ประมวลกฎหมายอาญา  287  หรือหากเป็นกรณีการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ก็มีพรบ การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14  เป็นต้น  ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มีมาตรการและบทลงโทษที่ชัดเจนอยู่แล้่ว นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์การวินิจฉัย "ลามก" ตามแนวฎีกาอยู่แล้วด้วย  จึงเป็นข้อวิจารณ์ได้ว่า  พรบฯภาพยนตร์อาจไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามาตรวจสอบสื่อลามกในขั้นตอนนี้  เนื่องจากมีมาตรการกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งวางเกณฑ์ค่อนข้างชัดเจนครอบคลุมสื่อลามกอยู่แล้ว



******แหล่งอ้างอิง *******


คณาธิป ทองรวีวงศ์ ศึกษาเปรียบเทียบพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ ศ 2550 กับ กฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท ในกรณีการหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ต บทบัณฑิตย์ เล่มที่ 65 ตอน 2 มิถุนายน 2552 หน้า 31-69

คณาธิป ทองรวีวงศ์, กฎหมายเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชน, กรุงเทพ:สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2555